ประวัติความเป็นมาของศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม “มาโนเซ่”

             ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น เศรษฐกิจของอาเซียนมีการเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เศรษฐกิจของโลกมีประมาณ 63 ล้านๆ เหรียญสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถัวเฉลี่ยทุกๆ ปี พบว่ามีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจประมาณ 4-5% ต่อปี ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2009 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี (ADB) เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ. 2564 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชียที่กำลังพัฒนาจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นที่ร้อยละ 7.3 ในปี พ.ศ. 2565 นี้ และคาดว่าในภูมิภาคนี้จะเติบโตปานกลางที่ร้อยละ 5.3 ในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากการฟื้นฟูสุขภาพทั่วโลกและความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) โดยเป็นการฟื้นตัวจากการเติบโตติดลบที่ร้อยละ 0.2 ในปีที่ผ่านมา รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2564 (Asian Development Outlook 2021) ยังรายงานว่า หากไม่รวมฮ่องกง จีน เกาหลี สิงคโปร์และไต้หวัน เศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชียกำลังพัฒนาโดยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 7.7 ในปี พ.ศ. 2564 และร้อยละ 5.6 ในปี พ.ศ. 2565

            สำหรับในภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วนประมาณ 3% ของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอาเซียนมีประชากรประมาณ 10 % ของประชากรโลก ดังนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตของภูมิภาคอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนอาเซียนมีเขตการค้าเสรีกับทั่วโลกและที่สำคัญอีกประการคือ มีอาเซียนบวกแปดหรือบวกเก้าซึ่งหมายความว่าจะมีเขตการค้าเสรีกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่มีสัดส่วนครอบคลุมไปถึง 80% เพราะฉะนั้น นอกจากสินค้าจากอาเซียนจะมีต้นทุนต่ำแล้ว สินค้าอาเซียนยังสามารถส่งออกไปขายยังทั่วโลกโดยไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่จะมีเศรษฐกิจที่สามารถเติบโตได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในการเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ด้วย

            จะเห็นว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพที่จะสามารถก้าวไปสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ด้านสุขภาพและความงามของภูมิภาคและโลกได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการขยายตัวของธุรกิจการรักษาสุขภาพสูงสุดในภูมิภาคนี้ ดังเห็นได้จากตัวเลขของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเกือบสองล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าตัวเลขของคนไข้ที่ไปรักษาตัวที่สิงค์โปร์และอินเดียรวมกัน ในปี ค.ศ. 2022 นิตยสาร Newsweek ได้จัดอันดับให้โรงพยาบาลที่ดีมากแห่งหนึ่งในประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 150 ของโลกและเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียเพราะมีโรงพยาบาลเอกชนถึง 400 แห่ง มีการรักษาพยาบาลด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่ทำให้การรักษาพยาบาลในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีถัวเฉลี่ยประมาณ 5.7% ต่อปี ประชากรในภูมิภาคอาเซียนล้วนมารักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปเหมือนดังเช่นแต่ก่อน ประเทศไทยมีเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับมาตรฐานในระดับโลก ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าทางตะวันตกหลายเท่าตัว รวมทั้งมีคุณภาพการบริการที่ดีกว่า จึงทำให้ธุรกิจทางด้านสุขภาพและความงามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์และเภสัชกรรมในประเทศไทยมีการเติบโตไปด้วย ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์และเภสัชกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม  โดยประเทศไทยยังสามารถอาศัยจุดเด่นและข้อได้เปรียบทางด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สมุนไพรและภูมิปัญญาในการเป็นผู้นำทางด้านนี้ในภูมิภาคอาเซียนและในระดับโลกได้อีกด้วย

            ในปัจจุบัน ธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อขายเท่านั้น แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันขึ้นกับเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเทคโนโลยีได้มาจากการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D (Research and Development) หากประเทศไทยสามารถปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาก็จะทำให้ประเทศไทยมีการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นๆ ได้ การวิจัยและพัฒนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง มาตรวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องดูจากงบประมาณที่ใช้ในด้าน R&D จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือที่เรียกว่า GDP (Gross Domestic Product) ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้าน R&D มากเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ 4.8% ของ GDP ตามด้วยสวีเดน ฟินแลนด์ ญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีสัดส่วนมากกว่า 3% และตามด้วยสหรัฐอเมริกา เยอรมัน สิงค์โปรและฝรั่งเศส ที่มีสัดส่วนมากกว่า 2 % ของ GDP สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ 0.2% ของ GDP ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเคยมีนโยบายที่จะเพิ่มงบประมาณ R&D เป็น 1% ของ GDP ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ๆ ได้ ทิศทางของ R&D ในประเทศไทยควรมุ่งเน้นทางด้านการผลิตสินค้าจากสมุนไพรและพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยควรจะต้องประยุกต์ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีนาโน เป็นต้น

             ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภก. จีรเดช  มโนสร้อยและ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภญ. อรัญญา มโนสร้อย ผู้บริหารของศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม “มาโนเซ่” เป็นศาสตราจารย์ที่เกษียณอายุราชการจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ได้ทำงานทางด้านวิจัยและผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวนรวมมากกว่า 3,000 คน โดยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านเภสัชศาสตร์มากกว่า 30 คน ศาสตราจารย์ทั้ง 2 ท่านมีประสบการณ์อย่างต่อเนื่องมามากกว่า 40 ปี ทางด้านวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความงามในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยา เสริมอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ภูมิปัญญาและตำรับยาสมุนไพรไทยต่างๆ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในระดับนานาชาติและสิทธิบัตรไทยรวมมากกว่า 25 เรื่อง มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติรวมมากกว่า 400 เรื่อง สามารถแยกสารเดี่ยวจากสมุนไพรได้มากกว่า 30 ชนิด ค้นพบสารใหม่ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากกว่า 5 ตัว และได้พัฒนาวิธีตรวจสอบวิเคราะห์สารต่างๆ จำนวนหลายตัว ตลอดจนมีผลงานวิจัยได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและนานาชาติจำนวนมาก

             ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. ภก. จีรเดช มโนสร้อย และคณะได้พัฒนาฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรของประเทศไทย “มโนสร้อย 1” จนถึง “มโนสร้อย 3” ในขณะนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวได้รวบรวมตำรับยาสมุนไพรจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีตำรายาสมุนไพรที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและได้รับการบันทึกลงในฐานข้อมูลแล้วมากกว่า 90,545 ตำรับ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565) เมื่อรวบรวมเสร็จสิ้น คาดว่าจะมีตำรับยาสมุนไพรในฐานข้อมูลนี้ทั้งสิ้นมากกว่า 300,000 ตำรับ ฐานข้อมูลนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา เสริมอาหารและเครื่องสำอาง เนื่องจากตำรับยาเหล่านี้ได้จากการใช้ตามภูมิปัญญาที่ได้ผ่านการทดสอบการใช้รักษาจริงในมนุษย์มาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเปรียบได้กับการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial) ตามวิธีการพัฒนายาสมัยใหม่ เฉพาะตำรับยาที่ใช้ได้ผลเท่านั้นจึงมีการบันทึกในตำรายาและใช้ต่อๆกันมา นอกจากนี้ ฐานข้อมูลนี้ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านของตำรายาสมุนไพรของไทยอีกทางหนึ่งด้วย ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเป็นฐานข้อมูล “มโนสร้อย 4″ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่มีความทันสมัย ใช้งานง่าย ครอบคลุมตำรับยาสมุนไพรทั่วประเทศไทยมากกว่า 300,000 ตำรับและสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้

              ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งมีผลให้มีการค้าและการลงทุนอย่างเสรีในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบด้วย 10 ประเทศซึ่งได้แก่ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) แนวโน้มการดูแลสุขภาพและความงามของประชาชนทั่วโลกในปัจจุบันได้เริ่มหันกลับมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกันมากขึ้น ประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีข้อได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพ  องค์ความรู้ดั้งเดิมและภูมิปัญญาที่มีจำนวนมาก มีเพียงสมุนไพรของไทยบางส่วนเท่านั้นที่ได้มีการนำมาศึกษาวิจัยและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์โดยหน่วยงานของรัฐ เอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพและปลอดภัย ปัญหาที่ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติรวมทั้งภูมิปัญญาให้สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ใช้ได้จริงและออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม อาจเนื่องมาจากการขาดองค์ความรู้และงบประมาณ ตลอดการขาดนโยบายสนับสนุนที่ต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน การขาดหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มาตรฐานในการให้บริการการวิจัยและพัฒนารวมทั้งตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางด้านสุขภาพและความงาม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

                จากประสบการณ์ทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมามากกว่า 40 ปี รวมทั้งมีองค์ความรู้และฐานข้อมูล “มโนสร้อย 3” ที่ได้รวบรวมและจัดทำมาอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 30 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภก. จีรเดช  มโนสร้อยและ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภญ. อรัญญา  มโนสร้อย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น เมื่อเกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านจึงได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม “มาโนเซ่” ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเอกชนแห่งแรกในภูมิภาคของไทยที่ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและผู้ประกอบการดังกล่าวข้างต้น โดยได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 ในจังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูงจำนวน 12 คน และมีห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล โดยมีวิสัยทัศน์คือเป็นผู้นำระดับนานาชาติในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (An International Leader in Research and Development of Natural Products) มีพันธกิจในการช่วยและสนับสนุนโดยการให้บริการในราคาที่เหมาะสมแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จะช่วยให้การนำองค์ความรู้ของสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาไทยมาศึกษาวิจัยและพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ทั้งยา เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและมีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์เพื่อสามารถแข่งขันทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศได้ ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม “มาโนเซ่” คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในประเทศไทยเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรภายในประเทศที่จะสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคและโลกได้ต่อไป

          วีดีทัศน์เกี่ยวกับ ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม มาโนเซ่