การนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรของประเทศไทย “Manosroi IV” โดยผู้รับจ้างพัฒนาฐานข้อมูล ณ ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม มาโนเซ่ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ระหว่างเวลา 10.30 -12.00 น. ผู้รับจ้างพัฒนาฐานข้อมูลได้นำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรของประเทศไทย “Manosroi IV” ณ ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงาม มาโนเซ่ จังหวัดเชียงใหม่ และรับข้อคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไข/ปรับปรุงฐานข้อมูลจากคณะผู้วิจัยที่มีศาสตราจารย์ ดร.ภก.จีรเดช  มโนสร้อย เป็นหัวหน้าโครงการ และศาสตราจารย์ ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย เป็นผู้ช่วยหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเดช     มโนสร้อย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมวิจัย โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสุขภาพและความมาโนเซ่ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพร ประกอบด้วย นางสาวเดือนศิริ คำออน นักนิรุกติศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพร และนายเชษฐา จำปา นักนิรุกติศาสตร์ เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ฐานข้อมูลนี้ คณะผู้วิจัยได้เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 จากฐานข้อมูลคัมภีร์ตำรายาสมุนไพรล้านนา : ตำรับ-โรค-สมุนไพร (Jiradej 1) / ฐานข้อมูลคัมภีร์ตำรายาสมุนไพรล้านนา : ตำรับ-โรค-สมุนไพร “Manosroi I” / ฐานข้อมูลตำรายาสมุนไพร “Manosroi II” และฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพร “Manosroi III” จนมาถึงฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรของประเทศไทย “Manosroi IV” ในปัจจุบันซึ่งได้ใช้เวลานานถึง 31 ปี

ฐานข้อมูล “Manosroi IV” นี้ จวนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วและเมื่อเสร็จสมบูรณ์จะประกอบด้วยตำรับยามากกว่า 4 แสนตำรับ โดยจะเป็นฐานข้อมูลที่มีโปรแกรมที่ทันสมัยและสะดวกในการสืบค้น โดยสามารถบันทึกและรวบรวมตำรับยาสมุนไพรให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งมีการเพิ่มขอบเขตโดยบรรจุตำรับยาในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของไทยและประเทศใกล้เคียงรวมมากกว่า 40 ชาติพันธุ์อีกด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ฐานข้อมูล “Manosroi IV” นี้ประกอบด้วยตำรับยาทั้งสิ้น 103,493 ตำรับ โดยคาดว่าฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสําอางและเสริมอาหาร ตลอดจนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเพื่อการต่อยอดขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป